เราเองAnny

om%2Fdata%2Ffeed%2Fapi%2Fuser%2F104202194774103152752%2Falbumid%2F5702937388036934929%3Falt%3Drss%26kind%3Dphoto%26hl%3Dth" pluginspage="http://www.macromedia.com/go/getflashplayer">

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของบุคคล


1 สิทธิ เสรีภาพ   
              
สิทธิ เป็นเสมือนทั้งเกราะในการคุ้มกันประชาชนให้พ้นจากภัยคุกคามของกำลังอิทธิพลและอำนาจที่ไม่ยุติธรรม และเป็นเสมือนกุญแจให้ประชาชนสามารถใช้ไขไปสู่ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้ โดยในที่นี้จะเน้นเฉพาะสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรับรองไว้ ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมถึงผลประโยชน์จากโอกาสและทางเลือกอันพึงมี พึงกระทำ และพึงได้ โดยที่สิ่งนั้นไม่ถูกโต้แย้งและขัดขวางโดยกฎหมาย องค์กรรัฐเจ้าหน้าที่รัฐ และคนอื่น ทั้งนี้โดยที่ประชาชนมีอิสระตามเสรีภาพในการใช้สิทธินั้นได้ตามเจตจำนงอิสระของตนเองหรือตามความสามารถในการตกลงใจของตนเองได้ด้วย ไม่อยู่ภายใต้การบังคับกะเกณฑ์โดยอิทธิพลอย่างอื่น ทั้งนี้สามารถจำแนกสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ออกได้เป็น 3 ส่วนดังนี้ คือ สาระสำคัญของสิทธิ พันธะของรัฐที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการใช้ประโยชน์จากสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สาระสำคัญของสิทธิ ได้แก่
                 1) สิทธิ เสรีภาพในความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิ เสรีภาพ เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ความคิด จิตใจ และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งถือเป็นสิทธิจะอยู่ จะเป็น หรือเป็นสิทธิที่ติดมากับตัวของประชาชนทั้งหลาย ตั้งแต่เกิดมาเป็นคน โดยที่รัฐไม่อาจปฏิเสธความเป็นคน และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนด้วยการกระทำที่เป็นการล่วงล้ำเกิน คุกคาม หรือละเมิดได้ เช่น การไม่ถูกลงโทษด้วยวิธีโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม การมีเสรีภาพในเคหสถานส่วนตัว เสรีภาพการเดินทาง การนับถือศาสนา การสื่อสาร คมนาคม การแสดงความคิดเห็น การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และการเลือกถิ่นที่อยู่ เป็นต้น (ตามมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 28) ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะอยู่ จะเป็น หรือ เป็นสิทธิที่ติดมากับตัวประชาชน ก็เพราะเป็นสิทธิที่เป็นส่วนควบติดอยู่กับความเป็นคนตามธรรมชาติ โดยที่ทุกคนมีอยู่เหมือนกัน รัฐไม่อาจเข้าไปแทรกแซงให้เกิดความแตกต่าง หรือ สูญสิ้นสิทธิอันเป็นเสมือนองค์ประกอบของชีวิต จิตใจ และร่างกายนั้นได้ ดังนั้น สิทธิ เสรีภาพในความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิทธิของคนที่ห้ามไม่ให้รัฐกระทำซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ
                  2) สิทธิ เสรีภาพในความเป็นพลเมือง เป็นสิทธิ เสรีภาพเกี่ยวกับการที่สามารถเรียกร้องความต้องการขั้นพื้นฐานจากรัฐในฐานะที่เป็นราษฎรของรัฐได้ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ให้การสนองตอบในรูปของบริการสาธารณะ ถือเป็นสิทธิที่จะเรียกขอได้ จะรับเอาได้ หรือเป็นสิทธิที่ตามมากับตัวโดยที่งอกขึ้นมาจากความเป็นพลเมืองหรือเป็นราษฎรของรัฐ โดยที่รัฐไม่อาจจะปฎิเสธความรับผิดชอบหรือความช่วยเหลือด้วยการเพิกเฉยไม่กระทำการตอบสนองตามความเรียกร้องต้องการของประชาชนซึ่งรัฐมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองได้ เช่น
                - สิทธิในการรับการศึกษา (ตามมาตรา 43)
                - สิทธิของผู้บริโภค
               - เสรีภาพในการชุมนุม
                - เสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะ
                - สิทธิการรับข้อมูลข่าวสารจากรัฐ
                - เสรีภาพการจัดตั้งพรรคการเมือง
                - สิทธิการรับบริการสาธารณสุข
                - สิทธิการฟ้องหน่วยราชการ
                - สิทธิมีส่วนร่วมกับรัฐ
                - สิทธิคัดค้านการเลือกตั้ง
                - สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่น
                - สิทธิการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น  
               ทั้งนี้ ในการใช้สิทธิเสนอกฎหมายนั้นมีขอบเขตจำกัดเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพตามหมวด 3 และเกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามหมวด 5 เท่านั้น เป็นต้น
                ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะเรียกขอได้ หรือจะรับเอาได้ หรือเป็นสิทธิที่ตามมากับตัวโดยที่งอกขึ้นมาจากความเป็นพลเมืองของรัฐ เพราะเป็นสิทธิที่ขึ้นอยู่กับความเป็นพลเมืองของรัฐ โดยที่การได้รับความยุติธรรมจากการใช้สิทธิสำคัญกว่าการได้รับประโยชน์จากสิทธิที่เท่ากัน เช่น พลเมืองที่เด็กได้รับสิทธิการศึกษาภาคบังคับฟรี แต่พลเมืองที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่พลเมืองที่ด้อยโอกาสจะได้รับสิทธิการสงเคราะห์จากรัฐ ทั้งที่คนปกติทั่วไปไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว
                ดังนั้นสิทธิเสรีภาพในความเป็นพลเมืองจึงเป็นสิทธิของพลเมืองที่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์เท่ากัน แต่หากเป็นสิทธิอะไรของใครก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบในการสนองตอบต่อการใช้สิทธินั้น กล่าวคือ พลเมืองที่เป็นเด็กย่อมสามารถเรียกร้องการศึกษาฟรีในภาคบังคับจากรัฐได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ก็ย่อมสามารถเรียกร้องการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจึงเป็นสิทธิที่สงวนไว้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาให้ประชาชน หรือบังคับให้รัฐจะต้องกระทำซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็นปฏิฐานกับรัฐ
               3) สิทธิในความเสมอภาค เป็นสิทธิ เสรีภาพเกี่ยวกับการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันจากรัฐ หรือการไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่การเลือกปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสียเปรียบ ผู้ด้อยโอกาส ได้รับสิทธิโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่นได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิที่จะมีจะเหมือนหรือเป็นสิทธิ เสรีภาพที่ดำรงอยู่นอกตัวของประชาชน (มาตรา 30) โดยที่รัฐไม่อาจปฏิเสธความเป็นกลาง หรือความเป็นธรรมด้วยการละเลยเพิกเฉยไม่ยื่นมือเข้าไปช่วย หรือ หยิบยื่นโอกาสอันพึงมีพึงได้ให้กับประชาชนได้รับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะความแตกต่างตามธรรมชาติ และเพราะการกระทำหรือละเว้นการกระทำของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น
                -การเสมอกันในกฎหมาย
                - การไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน
                - การได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
                - การได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ และ
                - สิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เป็นต้น
                ที่กล่าวว่าเป็นสิทธิที่จะมีจะเหมือนหรือเป็นสิทธิ เสรีภาพที่ดำรงอยู่นอกตัวของประชาชน ก็เพราะเป็นสิทธิที่ช่วยชดเชย ความแตกต่างตามธรรมชาติของคนให้ได้รับโอกาสและศักยภาพใหม่เพิ่มขึ้น โดยที่รัฐเป็นฝ่ายช่วยเสริมสร้างหรือเกื้อหนุนให้มีความเสมอเหมือนกัน โดยที่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์ที่เท่ากันจากการได้รับสิทธินั้น เช่น คนทั่วไปย่อมได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเท่าเทียมกันในการขอแจ้งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จหรือร่ำรวยได้เท่าเทียมกันจากการประกอบธุรกิจนั้น
         ดังนั้นสิทธิในความเสมอภาคจึงเป็นสิทธิที่รัฐให้หลักประกันในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน แต่รัฐไม่ต้องผูกพันว่าทุกคนจะต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการใช้สิทธินั้นให้ได้เท่ากันเสมอไป
         ดังนั้นสิทธิในความเสมอภาคจึงเป็นสิทธิที่กำหนดให้รัฐดำรงฐานะของความเป็นคนกลางในการถือดุลย์ระหว่างความแตกต่างกันตามธรรมชาติของคนกับความเท่าเทียมกันตามกฎหมายและการปฏิบัติของรัฐเพื่ออุดช่องว่างไม่ให้ความแตกต่างนั้นเป็นเหตุให้เกิดเงื่อนไขของความไม่ยุติธรรมขึ้นในสังคม แต่ประโยชน์จากความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องสร้างต่อขึ้นมาให้ตัวเองในภายหลังหรือไปหาเอาได้ข้างหน้า เมื่อรัฐได้ช่วยสร้างหลักประกันความยุติธรรมให้แล้ว ซึ่งอาจเรียกสิทธิแบบนี้ได้ว่าเป็นสิทธิที่เป็นพันธะของรัฐ

1 พันธะของรัฐที่มีต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ได้แก่
1.พันธะในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อแสวงหาให้ได้มาซึ่งอำนาจ
 เป็นการรับรองสิทธิ เสรีภาพในความเสมออำนาจของประชาชน ที่มุ่งผลต่อเป้าหมายอำนาจทางการเมืองการปกครองโดยตรง เช่น การจัดตั้งองค์กรทางการเมือง การร่วมกิจกรรมทางการเมือง และการเลือกผู้แทนทางการเมือง เข้าไปสู่อำนาจทางการเมือง หรือ ใช้อำนาจทางการเมืองให้สนองประโยชน์แก่ตนเองของประชาชน เป็นต้น
 
2.พันธะในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อแสวงหาให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากอำนาจ
              
 เป็นการรับรองสิทธิ เสรีภาพในการผ่านลอดอำนาจของประชาชน ที่มุ่งผลต่อเป้าหมายผลประโยชน์ที่ต้องอาศัยอำนาจเป็นเครื่องมือในการจัดทำให้โดยทางอ้อม เช่น การผลักดันให้ผู้แทนออกกฎหมาย การเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดนโยบาย การเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำ หรือ งดเว้นการกระทำ เพื่อสนองประโยชน์ให้ในรูปแบบของบริการสาธารณะด้านต่างๆ เป็นต้น
 
3.พันธะในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อแสวงหาให้ได้มาซึ่งอิทธิพลเหนืออำนาจ
              
เป็นการรับรองสิทธิ เสรีภาพในการขี่คร่อมอำนาจของประชาชน ที่มุ่งผลต่อเป้าหมายในการโต้แย้งอำนาจลบล้าง และล้มล้างอำนาจ ทั้งในฝ่ายการเมือง และฝ่ายราชการประจำ เช่น การโต้แย้งการออกกฎหมาย และการใช้กฎหมายของรัฐ การถอดถอนผู้ปกครองให้พ้นจากอำนาจ ตลอดจนการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อบังคับให้ทบทวนแก้ไขการใช้อำนาจ เพื่อทำประโยชน์ให้ประชาชนตามหน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการนั้น เป็นต้น
การใช้ประโยชน์จากสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่

 
1. การขอป้องกันสิทธิของประชาชน
              
การขอป้องกันสิทธิของประชาชน เป็นการใช้ประโยชน์จากสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในเชิงรุก เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่จะมี หรือเกิดขึ้นแก่สิทธิประโยชน์ของตน เช่น การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ การต่อต้าน โต้แย้ง และยับยั้งอำนาจรัฐที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2. การขอรับความคุ้มครองสิทธิของประชาชน
              
เป็นการใช้ประโยชน์จากสิทธิ เสรีภาพของประชาชนทั้งในเชิงรุก และเชิงรับ เพื่อเรียกร้องหรือร้องขอให้รัฐ หรือหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบตอบสนองต่อสิทธิประโยชน์ของตนได้ตามความต้องการ
 
3. การขอรับการเยียวยาสิทธิของประชาชน
              
การขอรับการเยียวยาสิทธิของประชาชน เป็นการได้รับการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชนจากรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับการชดเชยความเสียหาย จากการถูกกระทบสิทธินั้นให้กลับคืนมา ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเชิงรับ
หน้าที่ของประชาชน
              
  หน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญต่างจากสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งมีลักษณะเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการมีโอกาส และทางเลือกที่มีอิสระตามเจตจำนงที่ประชาชนเป็นฝ่ายกำหนดความต้องการได้เอง แต่หน้าที่ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำ และต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ต้องทำตามหน้าที่นั้นโดยที่ประชาชนไม่สามารถเป็นฝ่ายกำหนดได้เองว่าจะทำ หรือไม่ทำตามหน้าที่นั้น
         ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดหน้าที่ไว้ว่าประชาชนมีหน้าที่ต้องทำ หรือต้องไม่ทำสิ่งใด ประชาชนก็ต้องเคารพ และทำตามโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ส่วนที่จะทำให้เกิดผลดีมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกในความรับผิดชอบ และความสามารถของประชาชนร่วมกัน ซึ่งโดยหลักพื้นฐานของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนนั้น สิ่งที่สำคัญที่ถือเป็นเงื่อนไขความสำเร็จของการปกครองประเทศในระบอบนี้ คือ สิ่งที่เรียกว่าการปกครองที่รัฐมีการปกครองน้อยที่สุด (The less government) เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถือได้ว่าเป็นความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม หรือมีบทบาทให้มากที่สุดด้วย
         ฉะนั้นสิทธิ และหน้าที่ของประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมือง จึงต้องเป็นหน้าที่ที่ประชาชนจะละเลย เพิกเฉย หรือนิ่งดูดาย หรือคิดว่าไม่ใช่ธุระไม่ได้ ต้องมีสำนึกต่อภาระหน้าที่ของพลเมืองพร้อมกันไปด้วย จึงจะทำให้ภาระหน้าที่ของความเป็นพลเมืองสำเร็จลุล่วงได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการปกครองที่รัฐและผู้ปกครองต้องเป็นฝ่ายมีบทบาทนำเสมอไป การปกครองที่รัฐปกครอง น้อยที่สุดตามเป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นไม่ได้ ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยจึงมีความแตกต่างจากประชาชนในสังคมเผด็จการ เพราะประชาชนในสังคมประชาธิปไตยต้องมีบทบาทนำในฐานะที่เป็นทั้งเจ้าของอำนาจ และเป็นพลเมือง ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องเป็นผู้กระทำทางการเมือง ไม่ใช่ผู้รับการกระทำทางการเมือง เหตุนี้ประชาชนในสังคมประชาธิปไตย จึงควรเป็นพลเมืองที่ต้องตื่นตัว และมีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง การปกครองอยู่เสมอ ทั้งนี้ สามารถจำแนกหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญออกได้เป็น 5 ด้าน คือ
                 1) หน้าที่ของพลเมืองดี ประชาชนมีหน้าที่รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีประมหากษัตริย์เป็นประมุข (มาตรา 66)
                2) หน้าที่ต่อกฎหมาย ประชาชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย (มาตรา 67)
                3) หน้าที่ทางการเมือง ประชาชนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง(มาตรา 68 )
                 4) หน้าที่ต่อประเทศ ประชาชนมีหน้าที่ป้องกันประเทศ โดยการรับราชการทหาร เสียภาษีอากรตาม(มาตรา 69)
                5) หน้าที่ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการ พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ (มาตรา 46) และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนมีหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มาตรา 70)

อำนาจอธิปไตยของไทย



             อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการปกครองของรัฐที่มีอิสระ เสรีภาพ และมีความเป็นเอกราช 
มีอำนาจในการบริหารราชการ ทั้งกิจการภายในและนอกประเทศได้อย่างเต็มที่ 
โดยทั่วไปอำนาจอธิปไตยแยกใช้เป็น 3 ลักษณะ คือ อำนาจนิติบัญญัติ 
อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ
            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ระบุว่า อำนาจอธิปไตย

เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา 
คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งหมายความว่า 
ในทางการเมืองประชาชนมีอำนาจสูงสุด แต่การใช้อำนาจทางกฎหมายต้องใช้ผ่าน
สถาบันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลที่พิพากษา อรรถคดีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้ว
ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์และตามขอบเขตรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น 
ดังนั้นองค์ประกอบของผู้ใช้อำนาจก็คือ ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันนิติบัญญัติ 
สถาบันบริหาร และสถาบันตุลาการ อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าอำนาจอธิปไตยตามกฎหมาย
ไม่ได้อยู่ที่รัฐสภาเท่านั้น แต่แยกกันอยู่ใน 3 สถาบันหลักดังกล่าว 
ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าอำนาจใดใหญ่ที่สุดหรือสำคัญกว่ากันการกำหนดให้แยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น
3 ส่วน และให้มีองค์กร 3 
ฝ่ายเป็นผู้รับ ผิดชอบไปแต่ละส่วนนี้ เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่ไม่ต้องการให้มีการรวมอำนาจ แต่ต้องการให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพราะถ้าให้องค์กรใดเป็นผู้ใช้อำนาจมากกว่าหนึ่งส่วนแล้ว อาจเป็นช่องว่างให้เกิดการใช้อำนาจแบบเผด็จการได้ ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ มีดังนี้ 

 1. อำนาจนิติบัญญัติ หรือ สถาบันนิติบัญญัติ หมายถึง สถาบันที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย 
คือรัฐสภา ซึ่งมีรูปแบบเป็นสภาคู่หรือ 2 สภา ประกอบด้วย
            1.1 สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน 
และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน รวม 500 คน มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย
            1.2 วุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 
มีจำนวน 200 คน มีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองพระราชบัญญัติโดยถี่ถ้วน
ไม่ต้องผูกพันกับฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งและถอดถอน
ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองเช่นนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง 
อัยการสูงสุด เป็นต้น
2. อำนาจบริหาร หรือ สถาบันบริหาร หมายถึงบุคคล คณะบุคคล กลุ่มบุคคล 
หรือองค์กรที่นำนโยบายของรัฐไปดำเนินการและนำไปปฏิบัติ นอกจากจะเป็นสถาบัน
สร้างกฎหมายแล้ว ยังเป็นสถาบันสร้างนโยบายบริหารประเทศด้วย ประกอบด้วย
            2.1 ข้าราชการการเมือง คือ ข้าราชการซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
ให้มาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารบ้านเมือง
            2.2 ข้าราชการประจำ คือ บุคลากรซึ่งเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการนำนโยบาย
และกฎหมายไปปฏิบัติ ซึ่งต้องปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพสูง 
มีความรอบรู้ในหลักวิชาการ มีประสบการณ์ และมีระเบียบประเพณีการประพฤติปฏิบัติที่
เป็นแบบอย่าง มีสายการบังคับบัญชาของข้าราชการประจำอย่างชัดเจน 
มีการแบ่งงานกันทำเฉพาะอย่างตามความชำนาญ
3. อำนาจตุลาการ หรือ สถาบันตุลาการ หมายถึง ศาลและผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่
ในนามของรัฐ หรือในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  มีสาระสำคัญ 2 ประการดังนี้
            3.1 อำนาจตุลาการในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญของไทยในอดีต
ได้แยกอำนาจระหว่างอำนาจตุลาการและอำนาจนิติบัญญัติไว้อย่างชัดเจน 
โดยจัดอำนาจตุลาการให้มีความอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ 
รัฐสภาจะก้าวก่ายอำนาจของศาลไม่ได้
            3.2 ศาล รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางหลักทั่วไปเกี่ยวกับหลักการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีว่าเป็นอำนาจศาล 
ซึ่งศาลในที่นี้หมายถึง ศาลรัฐธรรมนูญศาลปกครอง ศาลทหาร
ศาลยุติธรรม และศาลอื่นๆ










ความสัมพันธ์ทางการเมืองไทยกับนานาประเทศ

กรณีศึกษาจากนโยบายการต่างประเทศของไทยกับนานาประเทศ
1.นิยามนโยบายต่างประเทศ
  คำว่า นโยบายต่างประเทศ เป็นศัพท์บัญญัติ จากภาษาอังกฤษว่า Foreign Policy  ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ International Relations Dictionary ของ Jack C. Plano & Roy Olton ได้ให้นิยามนโยบายต่างประเทศไว้ว่า “ยุทธศาสตร์ หรือแผนปฏิบัติการ    ที่ถูกพัฒนาโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจแห่งรัฐเพื่อใช้ต่อรัฐอื่น หรือองค์การระหว่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่นิยามไว้ว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ”

2. นโยบายต่างประเทศของประเทศไทย
  โดยภาพรวม ประเทศไทย มีประสบการณ์มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นใด ในการปรับตัวทางการเมืองต่อโลกภายนอก เมื่อคนไทยอพยพจากภาคใต้ของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในดินแดนที่ในอดีตเรียกว่าสยามนั้น คนไทยได้เอาชนะอาณาจักรเขมรที่ยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมากในภูมิภาคนี้ได้ และในที่สุดก็ได้รวมชนเผ่าไทยตามเมืองต่างๆสถาปนาเป็นประเทศไทยได้สำเร็จอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
    การดำเนินความสัมพันธ์ต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน  ผู้นำไทยชอบที่จะใช้วิธีการทางทหารมากกว่าวิธีการทางการทูต จึงปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าประเทศไทยต้องพ่ายแพ้ต่อประเทศเพื่อนบ้านหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็สามารถกอบกู้เอกราชและอธิปไตยคืนมาในภายหลังได้ พอถึงยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยต่างตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ แต่ประเทศไทยสามารถยืนหยัดดำรงเอกราชของชาติและดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศต่างๆในฐานะเป็นประเทศเอกราชและมีอธิปไตยอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง
3.นโยบายของรัฐบาล
  รัฐบาลมุ่งมั่นในการส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติเสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศ โดยการดำเนินนโยบาย ที่เป็นมิตรกับนานาประเทศ และสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศบนพื้นฐานของคุณธรรม ความโปร่งใส ค่านิยม ประชาธิปไตย และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎบัตรสหประชาชาติ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐบาลจึงกำหนดนโยบาย ดังนี้
1. ดำเนินบทบาทเชิงรุกในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อสนับสนุนความปรองดองและความมั่นคงในชาติ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้
2.  ส่งเสริมให้เกิดมิตรภาพและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
3. เสริมสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งจัดตั้งประชาคมอาเซียน
4.  ดำเนินบทบาทสร้างสรรค์ในกรอบสหประชาชาติและกรอบพหุภาคีอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาข้ามชาติ และการสาธารณสุข
5. คุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ และเสริมสร้างบทบาทของชุมชนไทยในต่างประเทศ
นโยบายการต่างประเทศ
  1. พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในทุกมิติและทุกระดับเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและการเคารพซึ่งกันและกัน ส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ และเร่งแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติวิธีบนพื้นฐานของสนธิสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  2. ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน ในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและบรรลุการจัดตั้งประชาคมอาเซียนตามกฏบัตรอาเซียน โดยให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง อาเซียนมีบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศรวมทั้งขยายความร่วมมือกับประเทศอื่นๆภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย และระหว่างเอเชียกับภูมิภาคอื่น
  3. ส่งเสริมความความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมและองค์กร มุสลิมระหว่างประเทศ
  4. กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลกและประเทศคู่ค้าของไทยในภูมิภาคต่างๆ เพื่อ รักษาและขยายความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อ พัฒนาความร่วมมือ ด้านทรัพยากร วัตถุดิบ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ องค์ความรู้ใหม่
  5. ส่งเสริมการมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลกในเรื่องการกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องการค้าสินค้าเกษตร และกฎระเบียบด้าน ทรัพย์สินทางปัญญา ค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ปัญหาข้ามชาติทุกด้านที่ส่งผล กระทบต่อความมั่นคง ของมนุษย์ส่งเสริมให้ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาขององค์การระหว่างประเทศ และมีความร่วมมือทางวิชาการกับ ประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น
  6. สนับสนุนการเข้าร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งทวิภาคีและ พหุภาคี ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เร่งรัดการให้สัตยาบันในข้อตกลงที่ได้ลงนาม ไว้แล้ว และปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อ ประชาชนและสังคม
  7. ส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ในโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อฉันทามติในการกำหนดนโยบาย และดำเนินนโยบายต่างประเทศ
  8. สร้างความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อประเทศไทยและการเข้าถึงระดับ ประชาชน โดยส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องและความเชื่อมั่นของนานา ประเทศต่อการเมืองและเศรษฐกิจไทย และสนับสนุนการเข้าถึงในระดับ ประชาชนกับประเทศต่างๆ เพื่อให้มีทัศนคติในทางบวกต่อประเทศและ ประชาชนไทย
  9. คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทย แรงงานไทย และ ภาคธุรกิจเอกชนไทยในต่างประเทศ และการสร้างความเข้มแข็งให้ แก่ชุมชนไทยในต่างประเทศ
กรณีตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับนานาประเทศ
         การศึกษานโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับนานาประเทศนั้น สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือ ปัจจัยของการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงลักษณะของนโยบายต่างประเทศ ตลอดจนผลและแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับนานาประเทศ
นโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกา
1. ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในที่กำหนดนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ
  1) การเมือง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมารัฐบาลที่ทำการปกครองประเทศส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลภายใต้ผู้นำทหารที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งมีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์คล้ายกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจเพียงประเทศเดียวที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่มีนโยบายสอดคล้องกับตน เช่น ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2501 – พ.ศ. 2506) และรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2506 – พ.ศ. 2516) ซึ่งจะปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้านอำนาจการปกครองของตนโดยยัดเยียดข้อหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกันปฏิบัติการทางทหารในสงครามอินโดจีน เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์อีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นอกจากจะเป็นการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารแล้ว ยังทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินนโยบายต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้สึกชาตินิยมเห็นว่าการมีกองกำลังของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย เป็นการเสียอำนาจอธิปไตยและเสื่อมเสียศักดิ์ศรีของชาติ ประกอบกับสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงไป เช่น การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตทำให้การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นแฟ้นในลักษณะเช่นที่เป็นมา ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ไทยอีกต่อไป กลุ่มนิสิตนักศึกษาจึงได้เดินขบวนประท้วงและขับไล่กองทัพสหรัฐอเมริกาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ขณะเดียวกัน ม.ร.ว. ศึกฤกธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ยื่นคำขาดให้สหรัฐอเมริกาถอนทหารของตนออกจากประเทศไทยโดยเร็ว
  การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2518 และรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2519 ที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนนั้น สืบเนื่องจากสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนแปลงไป คือ สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากสงครามอินโดจีน มีการปรับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรับประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2515 ในขณะที่เขมร เวียดนามใต้ และลาวตกอยู่ภายใต้การยึดครองของคอมมิวนิสต์อย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2518 ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลผลักดันให้ไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ
  2) การพัฒนาประเทศ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะที่ต้องรับผลกระทบจากสงครามสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจประเทศเดียวในขณะนั้นที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือฟื้นฟูแก่ประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ การมุ่งแสวงหาความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยเห็นประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพื่อซ่อมแซมทางรถไฟ และจัดหาอุปกรณ์สำคัญในการสร้างระบบคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ซึ่งถูกทำลายไปในระหว่างสงคราม รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านการทหารให้แก่ไทย เพื่อต่อต้านทั้งการแทรกซึมบ่อนทำลายและการโจมตีจากฝ่ายคอมมิวนิสต์  ในขณะเดียวกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ผนวกความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านการทหารของไทย สหรัฐอเมริกาจึงได้กลายเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือต่อไทยมากที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามหลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาต่อไทยโดยเฉพาะความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ได้ลดน้อยลงจนเป็นรองจากความช่วยเหลือที่ไทยได้จากประเทศญี่ปุ่น
2. ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกที่กำหนดนโยบายของไทยต่อสหรัฐอเมริกา
  1) การเมืองระหว่างประเทศ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะจากจีน และสหภาพโซเวียต โดยที่ไทยและสหรัฐอเมริกา มีแนวความคิดสอดคล้องกันที่ต้องการต่อต้านและปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังนั้น บรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ทำให้สหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นว่าตนจะต้องเป็นผู้นำในการปกป้องลัทธิเสรีนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตยจากการแพร่ขยายและการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุก ๆ แห่งของโลก จึงได้ให้ความสำคัญต่อประเทศไทยในฐานะประเทศพันธมิตรและเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และเป็นตัวแทนของโลกเสรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องและที่ตอบสนองและสนับสนุนสหรัฐอเมริกาเช่นกัน การจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) และแถลงการณ์ร่วม ถนัด-รัสก์ (Thanat-Rusk Joint Communiqués) ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลาของสงครามเวียดนาม ไทยได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาอย่างมากในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกา ก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงเป็นจำนวนมากแก่ไทยเช่นกัน นับได้ว่าทั้งสองประเทศได้พึ่งพาอาศัยกันบนผลประโยชน์ร่วมกันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังทางทหารออกจากเวียดนาม ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้เปลี่ยนมาเป็นความร่วมมือทางด้านการเมืองมากยิ่งขึ้น อาทิ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากัมพูชา โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนับสนุนทางด้านการเมือง และความพยายามของประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหาโดยวิถีทางการเมือง สำหรับความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงและการทหารก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่มิได้อยู่ในระดับที่ใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังคงมองเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญปัจจุบัน ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างไทย – สหรัฐอเมริกา ยังเป็นไปโดยใกล้ชิด ทั้งความร่วมมือทางทหาร และความร่วมมือในกรอบการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศโดยเฉพาะในเวที ARF (ASEAN Regional Forum) ซึ่งประเทศไทยมีปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ด้วยดีเสมอมา นอกจากนี้ ความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติดยังถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญต่อความร่วมมือระหว่างกัน ภายหลังวันที่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมา ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นประเด็นใหม่ในนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้วัดระดับความสัมพันธ์ในทุก ๆ ด้าน ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศต่าง ๆ ไทยได้ให้ความร่วมมือด้วยดีกับสหรัฐอเมริกา และนานาประเทศในการต่อต้านการก่อการร้าย  โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย การตรวจคนเข้าเมือง ตลอดจนการสกัดเส้นทางการเงินของผู้ก่อการร้าย รวมทั้งการเร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศในการต่อต้านการก่อการร้ายต่าง ๆ ซึ่งสหรัฐอเมริกาพอใจในบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อการแก้ไขปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ รวมทั้งการป้องกันและการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างแข็งขันของไทย
  2) นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย ภายหลังสมครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยประธานาธิบดีแฮรี่ เอส ทรูแมน ( Harry S. Truman) ซึ่งหลักการ ทรูแมน (Truman doctrine ) สิ่งให้คำมั่นสัญญาว่าสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร แก่ประเทศที่ถูกคุกคามด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ และจะเทรกแซงในวิกฤตการณ์อันเกิดจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย
โดยมีความเชื่อในทฤษฎีโดมิโน (Domino theory) ว่าหากกลุ่มประเทศอินโนจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศตะวันออกกลางก็จะตกเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ไปด้วยในที่สุด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพและความปลอดภัยมั่นคงของยุโรป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทเต็มที่ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ให้เอเชีย
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2511 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามในสงครามเวียดนามเนื่องจากความเบื่อหน่ายของชาวอเมริกันที่ไม่ทราบว่า สงครามเวียดนามจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และไม่มีทีท่าว่าสหรัฐอเมริกาจะประสบชัยชนะ รวมทั้งไม่เห็นความสำคัญของเวียดนามต่อผลประโยชน์ของชาติสหรัฐอเมริกา ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพการเมืองระหว่างประชาชนจีน ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องถอนกำลังทหารออกจากเวียดนาม และนำนโยบายของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard M. Nixon) หรือที่รู้จักในนามของหลักการนิกสัน (Nixon Doctrine) หรือหลักการเกาะกวม (Guam Doctrine) มาใช้เป็นนโยบายของสหรัฐอเมริกากับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะคงรักษาพันธกรณีตามสนธิสัญญาทั้งมวลที่มีอยู่ และจะให้ความคุ้มครองแก่ประเทศใด ๆ ที่ถูกคุกคามจากประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และการคุกคามดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาหรือต่อภูมิภาค หากมีการรุกรานในลักษณะอื่น สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือทั้งทางทหารและเศรษฐกิจเท่าที่เห็นสมควร โดยให้ประเทศที่ถูกคุกคามโดยตรงเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดหากำลังคนเพื่อป้องกันเอง  จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาลดบทบาทของตนลง ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ต้องตกอยู่ภายใต้การแข่งขันอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไทยต้องปรับนโยบายต่างประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกา ด้วยการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และเน้นการพึ่งตนเองมากขึ้นกว่าเดิม  อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไทยทางด้านการเมือง เช่น สนับสนุนร่างข้อมติของไทยและอาเซียนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหากัมพูชาในที่ประชุมสหประชาชาติ การเพิ่มความช่วยเหลือทางด้านกำลังอาวุธ ช่วยเหลือในปัญหาผู้ลี้ภัย เป็นต้น รวมทั้งการให้คำยืนยันต่อรัฐบาลไทยที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อถูกคุกคาม  ปัจจุบันนโยบายต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาดำเนินกับไทยอย่างต่อเนื่องมีทั้งความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงอย่างใกล้ชิด โดยใช้โครงการความช่วยเหลือทั้งด้านการค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา สาธารณสุข เพื่อสานสัมพันธ์และเชื่อมโยงระดับสังคมและประชาชน นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมด้านการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ได้ผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ใช้นโยบายการเปิดตลาดการค้าเสรี โดยเฉพาะด้านการเงิน การธนาคาร และโทรคมนาคม ในขณะที่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาครวมทั้งญี่ปุ่นเห็นว่าการเปิดเสรีทางการค้าควรคำนึงถึงความพร้อมของแต่ละประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาจะคงกดดันให้ประเทศไทยเร่งปรับปรุงมาตรฐานการค้า โดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ฝ่ายเดียวมาเป็นเครื่องมือ
  3) ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อสหรัฐอเมริกาส่งนายเอ็ดมันด์ รอเบิร์ต (Edmund Robert) ทูตอเมริกันคนแรกเข้ามาทำสนธิสัญญาฉบับแรกกับไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากกว่าจะมีความขัดแย้งกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ เช่น อังกฤษหรือฝรั่งเศส ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีลักษณะคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของไทย นอกจากนั้น ชาวอเมริกันหลายคนได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 และได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้ไทยได้แก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่ไทยทำกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก เช่น นายฟรานซิส บี แซร์ (Francis B. Syre) ที่ปรึกษาชาวอเมริกันสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ได้ช่วยเหลือในการปรับปรุงระบบราชการและกิจการบ้านเมืองอื่น ๆ อีกด้วย
ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐอเมริกา จำแนกลักษณะออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
  1. ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกาช่วงที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2488 – 2516 ลักษณะนโยบายที่สำคัญในช่วงนี้ คือ การต่อต้านการครอบครองดินแดนไทยโดยมหาอำนาจหนึ่ง โดยไทยและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกันต่อต้านการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นเพื่อครอบครองดินแดนในเอเชียในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2484 – พ.ศ.2488) มีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้ช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการถูกปฏิบัติเยี่ยงประเทศผู้แพ้สงครามจากประเทศมหาอำนาจพันธมิตร นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกันต่อต้านการคุกคามของประเทศใดประเทศหนึ่งต่อประเทศอื่น โดยเน้นการต่อต้านการคุกคามโดยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยร่วมกันในระดับภูมิภาค เช่น การจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ พ.ศ. 2497 เป็นต้น และการสนับสนุนองค์การระดับโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกันในกรณีปัญหาต่าง ๆ เช่น กรณีปัญหาเกาหลี (พ.ศ. 2493 – พ.ศ. 2496) ได้ส่งทหารเข้าร่วมกับทหารขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลี และกรณีสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2516) เป็นต้น
  สำหรับนโยบายการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ไทยให้ความช่วยเหลือสหรัฐอเมริกาในกรณีเวียดนาม คือ การยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติการในประเทศอินโดจีน เป็นต้น ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ได้ให้ความช่วยเหลือไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ เทคนิควิทยาการ สังคม และทางทหาร เพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ต่อประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศนั้น ๆ ด้วย โดยเฉพาะในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
  2. หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกาช่วงที่เริ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 2522 นโยบายของไทยต่อสหรัฐอเมริกาที่สำคัญในช่วงนี้คือ การที่ไทยขอให้สหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพออกจากไทย ขณะเดียวกันได้เกิดกรณีปัญหาเรือมายาเกซ โดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งทหารนาวิกโยธินผ่านประเทศไทยเพื่อยึดเรือมายาเกซซึ่งเป็นเรือของสหรัฐอเมริกาที่ถูกเขมรแดงยึดเอาไว้กลับคืน ซึ่งการกระทำของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตหรือปรึกษารัฐบาลไทยแต่อย่างใด ซึ่งไทยถือว่าเป็นการล่วงละเมิดอธิปไตยของไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม กัมพูชา และลาว การกระทำดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาตกต่ำมากที่สุดเท่าที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันมา
  3. ลักษณะนโยบายต่างประเทศปัจจุบัน นับจากปี พ.ศ. 2522 จนกระทั่งปัจจุบัน ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกา ในช่วงดังกล่าวกัมพูชาถูกเวียดนามรุกราน และโดยเฉพาะเมื่อเวียดนามบุกรุกดินแดนไทยในกรณีโนนหมากมุ่นในปี พ.ศ. 2523 ทำให้ไทยเห็นความจำเป็นในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามของเวียดนามซึ่งมีทหารยึดครองกัมพูชาอยู่ราว 200,000 คน สหรัฐอเมริกาได้ยืนยันถึงพันธกรณีและความช่วยเหลือที่จะให้ต่อไทยทางด้านความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียที่ต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตโดยผ่านเวียดนามในลาวและกัมพูชา
  นโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนโยบายฝักใฝ่โลกเสรีที่เคยถูกกำหนดมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ในช่วงสงครามเย็นระหว่างอภิมหาอำนาจค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ได้ถึงจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาด ในยุคสิ้นสงครามเย็นในปี พ.ศ. 2533 เมื่อสหภาพโซเวียต ล่มสลาย ซึ่งนับเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกยุคหนึ่งของนโยบายของประเทศไทย ซึ่งไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับทุกฝ่าย หรือนโยบายรอบทิศทางด้วยการเป็นมิตรกับทุกค่ายและนานาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพิจารณาถึงสถานการณ์โลกในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การสิ้นสุดสงครามเย็นและการสร้างระเบียบโลกใหม่ ความเข้มข้นของสงครามการค้า การรวมกลุ่มเศรษฐกิจหลาย ๆ กลุ่มทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงในอินโดจีน โดยให้ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ตามด้วยประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประชาคมยุโรป
  ในส่วนของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของไทยนั้น ย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติโดยรวมเป็นหลัก รวมทั้งต้องยอมสละประโยชน์รองเพื่อประโยชน์หลัก ทั้งนี้ การมีท่าทีที่แข็งกร้าวหรือแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ย่อมทำได้ หากมีการจำแนกดุลยภาพของผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการวางกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาโดยสหรัฐอเมริกาจะต้องคำนึงถึงความร่วมมือในกรอบความมั่นคงและการเมืองมากขึ้น บทบาทและท่าทีของประเทศต่าง ๆ ในการให้ความร่วมมือด้านการก่อการร้ายจะมีผลต่ออำนาจต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การกำหนดท่าทีในเรื่องนี้ของไทยจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะมีประโยชน์โดยตรงต่อการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ในลักษณะของหุ้นส่วนมากขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีความสำคัญในทางการเมือง เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ดังนั้น ไทยจึงโน้มน้าวให้สหรัฐอเมริกาตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพของไทยในด้านดังกล่าว โดยเฉพาะในการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม การศึกษา และเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค
  สิ่งที่พอจะสรุปได้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาคือ ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ แม้ดูจะไม่ราบรื่นโดยตลอด แต่มีลักษณะเด่นที่ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่จะแน่นแฟ้นเพียงใด ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์สอดคล้องต้องกันมากน้อยเพียงใด
  ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐอเมริกา แบ่งออกได้ 4 ด้านดังนี้  
  1. ด้านการทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาทางด้านการทหารเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2493 ด้วยนโยบายสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกาที่มุ่งให้ความสำคัญแก่การก่อตั้งระบบความมั่นคงร่วมกันในการต่อต้านการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของไทย ทั้งจากภัยคุกคามจากภายนอกคือการขยายอำนาจของประเทศอื่น และภัยจากภายในคือการแทรกแซงบ่อนทำลายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไทยและสหรัฐอเมริกาได้มีการทำสนธิสัญญาทางทหารระหว่างกันหลายฉบับ ซึ่งบางฉบับเปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาสามารถเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยได้ด้วย รวมทั้งการที่สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารในรูปอื่น ๆ เช่น การให้เงินช่วยเหลือทั้งในรูปของเงินกู้และเงินให้เปล่า เพื่อให้ไทยได้ใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การจัดการฝึกอบรมทางด้านวิชาการทางทหาร และการฝึกผสมร่วมคอบบราโกลด์ (Cobra Gold) เป็นต้น
  2. ด้านการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาทางด้านการเมืองนั้น เริ่มในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จากการที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งสถานกงสุลขึ้นในไทยครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2399 ทั้งสองประเทศได้มีการส่งทูตแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา รวมถึงการที่พระมหากษัตริย์ได้มีพระราชหัตถเลขาติดต่อกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผู้นำของประเทศทั้งสองได้มีการเดินทางไปเยือนแต่ละฝ่ายเสมอมา ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาเยือนไทย คือ นายพล ยูลิสซิส เอส. แกรนด์ (General Ulysses S. Grant) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกาที่มาเยือนเมืองไทยในปี พ.ศ. 2422 ในรัชสมัยที่ 5 ส่วนพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จเยือนทำเนียบขาวเมื่อ พ.ศ. 2474 คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองอย่างแน่นแฟ้น หลายระดับ นับตั้งแต่การมีแถลงการณ์ ประกาศในเชิงเป็นมิตรต่อกัน การเยี่ยมเยือนระหว่างผู้นำประเทศและข้าราชการในหลายระดับ การสนับสนุนซึ่งกันและกันทางการเมืองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศทุกระดับ
  ปัจจุบันความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาโดยรวมมีการร่วมมือกันด้วยดี มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้จะมีความเห็นไม่สอดคล้องกันบ้าง แต่ก็ไม่มีลักษณะของความขัดแย้ง ประเด็นที่สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ ได้แก่ ปัญหาการกักตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและสตรีในไทย เป็นต้น
  3. ด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาทางด้านเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1) ด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่ไทยมากที่สุด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายทางด้านการเมือง โดยเฉพาะการนำนโยบายสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ของประธานาธิบดีทรูแมนมาใช้ในปี พ.ศ. 2490 โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นการนำความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร สาธารณสุข คมนาคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดสงครามเย็นความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาได้ลดลง ในขณะที่ประเทศผู้ที่ให้ความช่วยเหลือไทยมากที่สุดกลายเป็นประเทศญี่ปุ่น
2) ด้านการค้า สหรัฐอเมริกาและไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างไม่เป็นทางการมาช้านานแล้ว แต่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2463 คือ สนธิสัญญาทางไมตรีการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างประเทศ  ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาได้ยกเลิกและมีการทำสนธิสัญญาใหม่อีกหลายฉบับ นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ตรารัฐบัญญัติปฏิรูปการค้า ซึ่งให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาตามโครงการให้สิทธิ์พิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of preference. GSP) เพื่อช่วยเหลือแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาในด้านการส่งออกโดยผ่อนคลาย หรือยกเลิกการกีดกันทางการค้าในรูปภาษีศุลกากร (Tariff barriers) เพื่อเปิดตลาดให้แก่สินค้าออกของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งไทยได้รับสิทธิพิเศษนี้ในปี พ.ศ. 2519 รวมทั้งยังได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากรให้แก่ไทย ซึ่งเป็นประเทศภาคีของแกตต์ จากการประชุมรอบโตเกียว (Tokyo Round) ด้วย
  ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา การค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเริ่มมีความสำคัญและขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มนักธุรกิจอเมริกันในประเทศไทยได้ร่วมกันก่อตั้งหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยขึ้น ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมธุรกิจการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ไทยได้เจรจากับสหรัฐอเมริกาด้านการค้า รวมทั้งการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย – สหรัฐอเมริกา และลงทุนในกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement TIFA) เพื่อการร่วมมือและประสานงานด้านการค้าและการลงทุน แก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน
  สำหรับการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยนั้น ไทยเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 23 ของสหรัฐอเมริกา ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย สินค้าหลักที่สหรัฐอเมริกา ส่งออกมาไทย ได้แก่ เส้นใยใช้ในการทอ เมล็ดพืชน้ำมัน เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือแพทย์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ สินแร่โลหะ และเศษโลหะ เคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้าหลักที่สหรัฐอเมริกานำเข้าจากไทย ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ยางพารา เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง แผงวงจรไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ
3) ด้านการลงทุน สำหรับในด้านการลงทุนนั้น ชาวอเมริกันเข้ามาดำเนินการทางธุรกิจในประเทศไทยมากเป็นอันดับที่สองรองจากญี่ปุ่น อุตสาหกรรมที่ชาวอเมริกันนิยมมาลงทุนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมประเภทผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์จากการเกษตร เหมืองแร่ เครื่องกลและไฟฟ้า และเมื่อไทยได้กลายเป็นแหล่งที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สหรัฐอเมริกาก็ได้มีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมลงทุนทางด้านนี้อีกด้วย โดยบริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกา เช่น ยูเนี่ยนออยล์ เอ๊กซอน (หรือเอสโซ่) อาโมโก้ เท็กซัสแปซิฟิก ฟิลลิปปิโตรเลียม และอื่น ๆ ได้ลงทุนในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในไทย เป็นต้น
4) ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาด้านสังคมและวัฒนธรรม แบ่งออกเป็นหลายด้าน พอสรุปได้ดังนี้
  (1) ด้านสาธารณสุข สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือต่อไทยในรูปของมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ด้วยการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ราชแพทยาลัยเดิม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น จนสามารถผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพออกไปช่วยพัฒนาประเทศด้านการสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการช่วยเหลือในด้านการปราบปรามโรคพยาธิปากขอ การพัฒนาระบบการประปาและศูนย์อนามัยตามเมืองต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการแพทย์และสาธารณสุขอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
  (2) ด้านการศึกษา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาและไทยได้ลงนามเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ไทยในการพัฒนาการศึกษาด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาอาชีวศึกษาระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ฝึกหัดครู บริหารการศึกษา สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ การฝึกอบรมและวิจัยในเรื่องต่าง ๆ รวมตลอดไปจนถึงการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในชนบท นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาอีก เช่น หน่วยสันติภาพ (The Pease Corps) มูลนิธิการศึกษามิตรภาพ (The Mitraparb Education Foundation) มูลนิธิฟลูไบรท์ หรือมูลนิธิการศึกษาไทยอเมริกัน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (The American University Alummi Lauguage Center : AUA) หรือเรียกกันทั่วไปว่า เอยูเอ. รวมทั้งโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ เอ.เอฟ.เอส. (The American Field Service, AFS) จากความช่วยเหลือดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาได้มีส่วนอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการศึกษาแห่งประเทศไทย
  (3) ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลทั้งสองได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อความร่วมมือ โดยสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเงินแก่ไทยในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดใน 3 ด้าน ได้แก่ การปราบปราม การปลูกพืชทดแทนและการพัฒนาชาวไทยภูเขา และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดอาเซียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไทยได้จับกุมผู้ค้ายาเสพติดที่สำคัญและส่งไปดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกาหลายราย ในปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยโดยรัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ยาเสพติดลดจำนวนเป็นอย่างมาก
  (4) ด้านปัญหาผู้อพยพอินโดจีนในประเทศไทย จากปัญหาการสู้รบในอินโดจีนก่อให้เกิดการอพยพลี้ภัยของชาวลาว กัมพูชา และเวียดนามออกนอกประเทศเป็นจำนวนนับแสนคน ซึ่งสร้างปัญหาแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ไทยต้องแก้ปัญหาดังกล่าวโดยขอความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ให้รับผู้อพยพลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศนั้น ๆ โดยสหรัฐอเมริการับผู้อพยพอินโดจีนจากไทยไปมากที่สุด โดยมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เป็นผู้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยดังกล่าว
  (5) ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้แลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมกันอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ตัวอย่างที่สำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับกรมศิลปากรในการขุดค้นศิลปวัตถุสมัยบ้านเชียงซึ่งพบว่าดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีการใช้เครื่องโลหะและปั้นดินเผามาก่อนจีนและอินเดีย ซึ่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ทีสุดในเอเชีย นอกจากนั้นการที่ไทยมีความสัมพันธ์อันดีต่อสหรัฐอเมริกาในทุกด้าน ทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้อิทธิพลของค่านิยมตะวันตกที่ลอกเลียนจากสหรัฐอเมริกาได้แทรกซึมอยู่ทั่วไปในสังคมไทย

นโยบายต่างประเทศของไทยต่อจีน
  1. ลักษณะนโยบาย ไทยและจีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย การดำเนินความสัมพันธ์มีทั้งด้านบวกคือการไม่ขัดแย้งกัน และด้านลบคือการขัดแย้งกัน ในอดีตเมื่อจีนยังไม่ได้ปกครองประเทศด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นั้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำเนินไปด้วยดีมาตลอดแต่เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบสาธารณรัฐ ในปี พ.ศ. 2454 ได้มีการปลุกระดมความเป็นชาตินิยมในหมู่ชาวจีนในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงเป็นนักชาตินิยมได้ทัดทานบทบาทของชาวจีนในไทย ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจระหว่างประเทศทั้งสอง และขยายตัวมากขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ขณะเดียวกันได้เกิดการปฏิวัติโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน ซึ่งไทยไม่ประสงค์ในสิทธิดังกล่าวจึงเกิดการต่อต้านชาวจีนมากขึ้น โดยเลือกมีสัมพันธภาพกับจีนไต้หวัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการปรับท่าทีและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
  2. ปัจจัยภายใน การเปลี่ยนแปลงในระบบระหว่างประเทศ นับตั้งแต่เกิดสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต การลดบทบาทในอินโดจีนของสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอินโดจีนกลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ และสหภาพโซเวียตเข้ามามีอิทธิพลในอินโดจีน รวมทั้งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของไทยทั้งสิ้น เนื่องจากไทยเป็นประเทศเล็กจำเป็นต้องผูกพันกับประเทศใหญ่เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับตนเอง ไทยจึงมีนโยบายคล้อยตามสหรัฐอเมริกา
การกำหนดความสัมพันธ์ของไทยกับจีนนั้นมาจากปัจจัยภายในด้านต่าง ๆ ดังนี้
  1) ด้านผู้นำไทย ในอดีตช่วยปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้สร้างทัศนคติด้านลบแก่ผู้นำไทย ด้วยการก่อความไม่สงบขึ้น เช่น จัดตั้งสมาคมอั้งยี่ และการไม่ยอมรับอำนาจของศาลไทย รวมทั้งการครอบงำเศรษฐกิจของชาวจีน ทำให้เพิ่มความไม่พอใจให้กับผู้นำไทยมากยิ่งขึ้น เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ผู้นำไทยในช่วงปีพ.ศ. 2493-2513 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารมีนโยบายต่อต้านภัยจากคอมมิวนิสต์ ยิ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยปฏิเสธความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น จนกระทั่งสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงไปผู้นำไทยจึงหันมาสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนในปี พ.ศ. 2518
  2) ด้านการเมือง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา กลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศในฐานะรัฐบาลมีทั้งกลุ่มพลเรือนและกลุ่มทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี พ.ศ. 2500-2513 รัฐบาลเผด็จการทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่าวงรุนแรง หากผู้ใดคณะใดมีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทัศนะต่าง ๆ ของประชาชนหลายกลุ่มต่อการเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้รับการพิจารณามากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในอินโดจีนแลกเปลี่ยนไป
  3) ด้านการทหาร แม้ว่าประเทศไทยจะทุ่มเทงบประมาณเพื่อพัฒนากองทัพให้เข้มแข็ง แต่หาเปรียบเทียบกับจีนแล้วไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาก ไม่ว่าด้านกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างไรก็ตาม ศักยภาพด้านการทหารไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากนัก
  4) ด้านเศรษฐกิจ ช่วงปี พ.ศ. 2500-2518 ประเทศไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-4 เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลี ซึ่งประสบความสำเร็จแล้ว ผลจากการพัฒนาทำให้เขตเมืองมีการเจริญเติบโตอย่างมาก ทั้งนี้โดยอาศัยทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและแรงงานคนจากเขตชนบท ทำให้รายได้และมาตรฐานการครองชีพในเขตเมืองสูงขึ้น ขณะที่รายได้ของเขตชนบทต่ำแต่ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Grose Demestic Product : GDP) สูงขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนประชากรยากจนก็มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา นอกจากนี้ตัวเลขการขาดดุลของประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากไทยต้องอาศัยวิทยาการและเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องซื้อหามาด้วยราคาที่แพงมาก รวมทั้งเงินกู้ต่างประเทศยังเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากประเทศหนึ่ง
  3. ปัจจัยภายนอก  ปัจจัยภายนอกที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายของไทยกับจีน มีดังนี้
  1) สถานการณ์ภูมิภาค นับตั้งแต่มีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี พ.ศ. 2492 เป็นต้นมาจนถึงปี พ.ศ. 2528 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนไม่ค่อยราบรื่นนัก เนื่องจากจีนให้ความช่วยเหลือเวียดนามเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศส รวมทั้งสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งเกิดการรวมเป็นประเทศเวียดนามเดียวภายใต้ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะในสงครามการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเกิดการปฏิวัติขึ้นในลาวและกัมพูชา หลังจากนั้นเวียดนามได้พยายามเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและการทหารเหนือกัมพูชาและลาว การกระทำของเวียดนามดังกล่าวทำให้เกิดข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงกับจีน และจากปัญหาความขัดแย้งภายในของกัมพูชาซึ่งจีนให้การสนับสนุนอยู่ได้เป็นปัญหาสำคัญต่อความมั่นคงของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากไทยให้ที่พักพิงแก่ฝ่ายรัฐบาลผสมเขมรสามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งจีนให้การสนับสนุนอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านด้วย ทำให้จีนและเวียดนามขัดแย้งกันจนเกิดการปะทะกันด้วยกำลัง จากบทบาทของจีนที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านของไทย ด้วยการสนับสนุนการขยายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผย พฤติกรรมเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ของผู้นำไทย ต่อมาจีนได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ไปในทางต่อต้านกับภัยที่คุกคามไทย ความขัดแย้งระหว่างไทยกับจีนได้ลดลงถึงขั้นร่วมมือกันต่อต้านเวียดนาม
  2) สถานการณ์โลก หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนามในปี พ.ศ. 2512 ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มปรับความสัมพันธ์ทางการฑูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2515 เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องการเป็นพันธมิตรกัน เพื่อคานอำนาจและต่อต้านการขยายอิทธิพลสิทธิครองความเป็นเจ้าของสหภาพโซเวียตที่ให้การสนับสนุนเวียดนาม สำหรับประเทศไทยก็ได้ปรับท่าทีโดยหันมาเปิดความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างกันในปี พ.ศ. 2518

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน
  1) ด้านการเมือง นับตั้งแต่จีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยซึ่งมีความผูกพันกับสหรัฐอเมริกาและมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองมีความตึงเครียด เนื่องจากปัญหาด้านอุดมการณ์และความมั่นคง แต่หลังจากสถานการณ์ในภูมิภาคและโลกเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยและจีนจึงปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันในปี พ.ศ. 2518 สมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สัมพันธภาพอันดีได้สะดุดลงชั่วขณะเมื่อเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2519 โดยมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนากรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ต่อมาสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีชุดนี้ได้ทำการรัฐประหารโดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองและระบอบการปกครองแตกต่างกันก็ตาม และนับแต่นั้นเป็นต้นมา สัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างไทยกับจีนก็ดำเนินมาด้วยดีโดยตลอด มีการเยี่ยมเยือนกันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จเยือนประเทศจีนหลายครั้งซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของประเทศทั้งสอง
  2) ด้านเศรษฐกิจ จากความสัมพันธ์ด้านการเมืองของไทยและจีนมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง เช่น การทำความตกลงทางการค้า การลงทุนร่วมกัน การซื้อ-ขายสินค้าระหว่างกัน เป็นต้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492-2514 นั้น เป็นระยะที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เพราะไทยได้กระทำรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2502 คือ การปฏิเสธการค้ากับจีน ห้ามการติดต่อค้าขายตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 53 ต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางการเมือง จึงได้มีการติดต่อทางการค้า การค้าเสรีระหว่างเอกชนไทยกับรัฐบาลขึ้นได้เริ่มขึ้นนับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างกันเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขยายตัวขึ้นมากทั้ง ๆ ที่จีนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองให้มากที่สุด การเปลี่ยนเปลี่ยนทางการพัฒนาประเทศของจีนเมื่อปี พ.ศ. 2521 ด้วยการประกาศนโยบาย 4 ทันสมัย ซึ่งได้แก่ เร่งรัดความทันสมัยด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การทหาร และเทคโนโลยี ได้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ไทยพอสมควร เพราะเปิดโอกาสให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีระบบการบริหารแบบทุนนิยมผสมกับสังคมนิยมกลุ่มเศรษฐกิจไทยดังกล่าว ได้แก่กลุ่มเจียไต๋ ซึ่งลงทุนด้านโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์และเลี้ยงไก่ที่เมืองเซิงเจิ้น ซานโถว (ซัวเถา) ซิหลิน เหลี่ยวหนิง เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นที่ลงทุนด้านต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตพรม โรงงานปุ๋ย โรงงานสร้างเรือยอร์ช สนามกอล์ฟ รถจักรยายนต์ กระจก และน้ำดื่ม เป็นต้น นอกจากนั้นได้มีการตกลงทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สร้างข้อตกลงทางการค้า ขายสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มีการส่งผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคไปช่วยเหลือกัน ยุติข้อกีดกันทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ที่ดีอย่างสูงสุด แม้ว่าไทยจะขาดดุลการค้ากับจีนก็ตาม
  3) ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมของไทยและจีนนั้นมีมานานแล้วก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความตึงเครียดระหว่างกัน โดยมีการเยี่ยมเยือนจีนของคณะต่าง ๆ ทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น คณะบาสเกตบอล คณะผู้แทนกรรมกรไทย คณะผู้แทนศิลปินไทย สมาคมพุทธศาสนา คณะสงฆ์ รวมทั้งคณะนักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น จากเหตุการณ์ด้านวัฒนธรรมและวิชาการ อันได้แก่ การติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนผู้ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และงานด้านวิชาการ เป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมของไทยและจีนมีความร่วมมือกันย่างแน่นแฟ้นจนถึงปัจจุบันนี้
ประเทศไทยกับยุโรปตะวันตก
การกำหนดนโยบายและความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศยุโรปตะวันตกมีปัจจัยสำคัญ ดังนี้
 1. ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยต่อประเทศยุโรปตะวันตก ประกอบด้วย
  1) ด้านการปกครอง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ระบอบการปกครองของไทยจะเป็นประชาธิปไตยสลับกับเผด็จการทหาร โดยรัฐบาลทหารภายใต้การปฏิวัติรัฐประหาร จะเน้นนโยบายความมั่นคงและมีความผูกพันกับสหรัฐอเมริกามากกว่ายุโรปตะวันตก
  2) ด้านการเมือง ในอดีตคนไทยให้ความสนใจกับการเมืองน้อยมาก ส่วนใหญ่ไม่มีความกระตือรือร้นในด้านการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารเป็นเวลานาน แต่หลังจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ประชาชนมีความตื่นตัวในทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเผด็จการยังเน้นในนโยบายความมั่นคงผูกพันกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ความสัมพันธ์กับยุโรปตะวันตกลดน้อยลง
  3) ด้านอุดมการณ์ กลุ่มทหารเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุด ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของไทยจึงถูกกำหนดโดยกลุ่มทหารมากกว่าพลเรือน ทำให้ปัจจัยด้านอุดมการณ์และแนวคิดของผู้นำทหารเป็นตัวกำหนดการดำเนินนโยบายต่างประเทศมาตลอด โดยเน้นการต่อต้านคอมมิวนิสต์และความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าด้านเศรษฐกิจและการกระจายรายได้
  4) ด้านประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมีการคบค้ากับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกมาเป็นเวลานานแล้วเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา และไทยได้ใช้วิธีการถ่วงดุลอำนาจหรือลู่ตามลม จึงทำให้สามารถหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกได้ ความสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้มีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในด้านเศรษฐกิจและการค้ามาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ประสบการณ์จากการติดต่อกับประเทศเหล่านี้ทำให้ไทยเลือกเน้นความสัมพันธ์กับบางประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นต้น
  5) ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาต่างประเทศทั้งในด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ตลอดจนการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น เพื่อเป็นแหล่งระบายออกสินค้าเกษตรและกึ่งอุตสาหกรรมบางประเภท ขณะเดียวกันก็ต้องพึงพาสินค้าทุนจากประเทศเหล่านี้ในอัตราที่สูงขึ้น นโยบายเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศกับกลุ่มประเทศยุโรป
2. ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ มีดังนี้
  1) การเมืองระหว่างประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจของโลกถูกแบ่งเป็น 2 ค่าย โดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำค่ายเสรีนิยมทุนนิยม ส่วนสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องร่วมมือกับฝ่ายเสรีนิยมเพื่อต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ตามประเทศของสิทธิทรูแมน โดยมีการก่อตั้งองค์การซีโต้ (SEATO) ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกด้วย
  2) การเสื่อมอำนาจของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ประเทศมหาอำนาจในยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ ประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้อิทธิพลและบทบาทในทางการเมืองระดับโลกถดถอยลง ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกน้อยจนต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกนั้นมีเพียงความสัมพันธ์ในด้านการค้า เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเป็นหลัก
  3) สถานการณ์อินโดจีน จากการลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้งองค์การซีโต้ (SEATO) เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ โดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมเป็นสมาชิกด้วย ขณะเดียวกันทำให้ไทยมีส่วนเข้าไปมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก
  4) องค์การอาเซียน สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซีย (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาประเทศและเพิ่มอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจและประเทศอื่น ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา จากการรวมตัวของประเทศสมาชิกดังกล่าว ทำให้ความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจที่กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปที่มีต่อกลุ่มประเทศอาเซียน มีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่อกลุ่มคู่ขนานไปกับความสัมพันธ์ในลักษณะทวิภาคี
  3. ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทย จากการที่ไทยเน้นนโยบายป้องกันประเทศ โดยยึดอุดมการณ์เสรีนิยมและทุนนิยมเป็นหลัก และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา และให้ความสำคัญกับความร่วมมือในระดับอาเซียนจึงทำให้ลักษณะของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยดังกล่าวส่งผลต่อนโยบายต่อประเทศไทยต่อกลุ่มยุโรปตะวันตก ดังนี้
  1) การเน้นความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากความเสื่อมโทรมของบทบาททางการเมืองของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ไทยจึงให้ความสำคัญด้านดังกล่าวกับสหรัฐอเมริกาในอันที่จะเป็นที่พึ่งของไทย เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากภายนอกได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกได้มีบทบาทด้านเศรษฐกิจและการค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ทำให้นโยบายด้านเศรษฐกิจต่อกันทั้งในระดับทวิภาคีและพาหุภาคี ซึ่งมีประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมด้วย
  2) การหาเสียงสนับสนุนทางการเมือง ในช่วงที่เกิดความรุนแรงในกลุ่มประเทศอินโดจีน ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยสงครามอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยจำเป็นต้องแสวงหาเสียงสนับสนุนเพื่อใช้เป็นแรงต่อรองหรือผลักดันให้เกิดมติมหาชนโลก เพื่อรับรองท่าทีหรือแนวนโยบายต่างประเทศ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกในเชิงการเมือง โดยเฉพาะปัญหาสถานการณ์กัมพูชาและปัญหาผู้ลี้ภัย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตก
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปตะวันตกในด้านต่าง ๆ ดังนี้
  1. ด้านการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตกด้านการเมืองนั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งในอดีตความสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะมีกับอังกฤษและฝรั่งเศสในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาอินโดจีน ซึ่งประเทศทั้งสองเคยมีบทบาทสำคัญในดินแดนแห่งนี้ แต่หลังจากกลุ่มประเทศอินโดจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสได้ค่อย ๆ ลดบทบาทลง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มยุโรปตะวันตกมีลักษณะเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด กล่าวคือ ปราศจากความขัดแย้งสำคัญ และให้การสนับสนุนนโยบายของไทยโดยเฉพาะเกี่ยวกับปัญหากัมพูชา
  2. ด้านเศรษฐกิจ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ประเทศไทยได้เร่งฟื้นฟูประเทศด้วยการดำเนินนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ทำให้ความจำเป็นในการสั่งสินค้าเข้าจากต่างประเทศในรูปของสินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบ และสินค้าประเภททุนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนถึงช่วงที่ประเทศไทยเริ่มหันมาเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า การสั่งสินค้าประเภทดังกล่าวจึงลดลงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เมื่อไทยหันมาเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออก จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ไทยต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศที่พัฒนาเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตกมีลักษณะขาดดุลโดยตลอด สินค้าที่ไทยนำเข้าประกอบด้วย เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และอาหารประเภทนมครีม ส่วนสินค้าส่งออก ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพาราใบยาสูบ ดีบุก ข้าว และไม้สัก เป็นต้น แต่หลังจากปี พ.ศ. 2520 อัตราส่วนการค้าของไทยกับยุโรปตะวันตกได้ลดลง เนื่องจากไทยหันไปสั่งสินค้ากับประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาคยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปค (OPEC)
  สำหรับการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันตกในไทยนั้น มีปริมาณมากเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น โดยมีอังกฤษเข้ามาลงทุนมากที่สุด ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตกนั้น ยังมีลักษณะว่าประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งสินค้าประเภททุนและสินค้าขั้นกลางของไทย และเป็นตลาดส่งออกของไทยในด้านสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้ากึ่งอุตสาหกรรม สำหรับแนวโน้มด้านการค้าระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตกคงจะไม่ขยายตัวมากนัก แต่ด้านการลงทุนในไทยโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  3. ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มยุโรปตะวันตกในด้านสังคมและวัฒนธรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเทคนิค รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาฝึกอบรมและดูงาน ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี รองลงมาคือ อังกฤษและฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีอิตาลี เบลเยี่ยม เดนมาร์ก นอร์เว สวีเดน และฟินแลนด์   อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มยุโรปตะวันตกในอดีตเป็นลักษณะการให้ทุนการศึกษาและดูงาน ความช่วยเหลือในรูปโครงการส่วนใหญ่จะมุ่งไปในด้านการเกษตร ลักษณะความช่วยเหลือและปริมาณความช่วยเหลือดังกล่าวคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

รายนามนายกรัฐมนตรีไทย




นายกรัฐมนตรี คนที่ 1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ดำรงตำแหน่งวันที่ 28 มิถุนายน 2475 พ้นตำแหน่งวันที่ 21 มิถุนายน 2476 ด้วยการทำรัฐประหารโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 2 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งวันที่ 21 มิถุนายน 2476 พ้นตำแหน่งวันที่16 ธันวาคม 2481 โดยรัฐบาลยุบสภา     
นายกรัฐมนตรี คนที่ 3 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 16 ธันวาคม 2481 พ้นตำแหน่งครั้งสุดท้ายวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยการทำรัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
            นายกรัฐมนตรี คนที่ 4 พันตรีควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 1 สิงหาคม 2487 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 เมษายน 2491 โดยถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออก
             นายกรัฐมนตรี คนที่ 5 นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งวันที่ 31 สิงหาคม 2488 พ้นตำแหน่งวันที่ 17 กันยายน 2488 เนื่องจากลาออก เพื่อให้ผู้เหมาะสมมาแทน
            นายกรัฐมนตรี คนที่ 6 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 17 กันยายน 2488 และอีกครั้งในต้นปี 2519 ก่อนพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการทำรัฐประหาร นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่
            นายกรัฐมนตรี คนที่ 7 นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ดำรงตำแหน่งวันที่ 24 มีนาคม 2489 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 สิงหาคม 2489 โดยการลาออก
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 8 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ดำรงตำแหน่งวันที่ 23 สิงหาคม 2489 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการทำรัฐประหารนำโดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ
            นายกรัฐมนตรี คนที่ 9 นายพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งวันที่21 กันยายน 2500 ตามมติสภาผู้แทนราษฎร และพ้นตำแหน่งวันที่ 1 มกราคม 2501 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เป็น ครม.ชุดที่ 27
            นายกรัฐมนตรี คนที่ 10 จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 1 มกราคม 2501 และอีกครั้งในปลายปี 2506 ก่อนจะพ้นตำแหน่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังการเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 11 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 ธันวาคม 2506 เพราะถึงแก่อสัญกรรม   
นายกรัฐมนตรี คนที่ 12 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 พ้นตำแหน่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญปี 2517 
นายกรัฐมนตรี คนที่ 13 พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งวันที่ 14 มีนาคม 2518 พ้นตำแหน่งวันที่ 20 เมษายน 2519 เพราะยุบสภา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 14 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งวันที่ 8 ตุลาคม 2519 พ้นตำแหน่งวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยการรัฐประหารนำโดยพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่   
นายกรัฐมนตรี คนที่ 15 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2520 พ้นตำแหน่งวันที่ 3 มีนาคม 2523 โดยการลาออกกลางสภา 
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 3 มีนาคม 2523 พ้นตำแหน่งวันที่ 4 สิงหาคม 2531 เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป   
นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งวันที่ 4 สิงหาคม 2531 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะ รสช.ทำรัฐประหาร 
นายกรัฐมนตรี คนที่ 18 นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งวันที่ 2 มีนาคม 2534 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 กันยายน 2535 เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ดำรงตำแหน่งช่วงสั้นๆ อีกครั้ง ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 10 มิถุนายน 2535 - 23 กันยายน 2535)   
นายกรัฐมนตรี คนที่ 19 พลเอกสุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งวันที่ 7 เมษายน 2535 พ้นตำแหน่งวันที่ 10 มิถุนายน 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ   
นายกรัฐมนตรี คนที่ 20 นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งวันที่ 23 กันยายน 2535 และอีกครั้งในปี 2540 พ้นตำแหน่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป 
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่ง13 กรกฎาคม 2538 พ้นตำแหน่งวันที่ 25  พฤศจิกายน 2539  เมื่อยุบสภา  
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 22 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 พ้นตำแหน่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 โดยการลาออก   
นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 พ้นตำแหน่งวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังถูกรัฐประหาร 
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 24พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 1 ตุลาคม 2549 พ้นตำแหน่งวันที่ 29 มกราคม 2551 เมื่อปรากฎผลการเลือกตั้งทั่วไป 
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่ง 29 มกราคม 2551 พ้นตำแหน่งวันที่ 9 กันยายน 2551 จากคำวินิจฉัยว่าไม่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งของศาลรัฐธรรมนูญ  
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 26 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่ง 9 กันยายน 2551 พ้นตำแหน่งวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จากคำวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ (ถูกตัดสิทธิ์และไม่มีคุณสมบัติในฐานะกรรมการบริหารพรรค) 
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่ง17 ธันวาคม 2551 - 5  สิงหาคม  พ.ศ. 2554    
 นายกรัฐมนตรี คนที่ 28 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 -  ปัจจุบัน